โยธารื้อกฎหมายต้านแผ่นดินไหว เข้มก่อสร้าง-ป้องซ้ำรอยตึก ‘สตง.’

13 พฤษภาคม 2568
โยธารื้อกฎหมายต้านแผ่นดินไหว เข้มก่อสร้าง-ป้องซ้ำรอยตึก ‘สตง.’

กรมโยธาธิการเตรียมรื้อกฎหมายอุดช่องโหว่อาคารเสียหายจากแผ่นดินไหว หลังตึก สตง.ถล่ม โดยเฉพาะ 3 ฉบับหลัก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ขยายประเภทอาคารควบคุม คุมเข้มการปล่อยจ้าง “ผู้รับเหมาช่วง” การควบคุมงานของคณะกรรมการควบคุมงาน และการตรวจการจัดจ้าง ทั้งในเขต กทม.และทั่วประเทศ

นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีอาคารต่าง ๆ ของภาครัฐ และภาคเอกชนบางส่วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่ม มีรายละเอียดของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้ทางกรมโยธาฯ ต้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยกร่างกฎหมายใหม่โดยเร็ว

ทั้งกฎหมายที่กรมโยธาฯดูแลโดยตรงคือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรการการก่อสร้างอาคาร และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องมาดูกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำเหมือนอาคาร สตง.อีกครั้ง

ในส่วนของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งทางกรมโยธาฯจะไม่ไปก้าวล่วงกฎหมายของหน่วยงานอื่น แต่ในการประชุมจะมีการให้ข้อเสนอแนะจะปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างไร หรืออาจจะต้องนัดหารือ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อไป

นายพงษ์นรากล่าวอีกว่า ส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต้องพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เช่น 1.อาคารที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงปี 2564 ว่าต้องออกแบบให้อาคารต้านแผ่นดินไหวครอบคลุมพอหรือไม่ ต้องเพิ่มเติมหรือไม่ และจังหวัดต่าง ๆ ต้องทบทวนเพิ่มเติมหรือไม่ หากต้องการให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรง ต้องออกแบบโครงสร้างให้ใหญ่ ๆ ไว้ ใส่เหล็ก คอนกรีตหนาขึ้น แต่ทุกอย่างเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสม

ในการออกกฎกระทรวงต้านแผ่นดินไหว ปี 2540 คาดการณ์แผ่นดินไหวไว้ที่ 8 โดยนำแหล่งกำเนิดกับรอยเลื่อนที่มีทั้งในประเทศและรอบ ๆ ประเทศ ที่มีผลกระทบกับไทย มาคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งในประเทศไทย มี 16 รอยเลื่อน ใน กทม.ตรวจสอบแล้วมีรอยเลื่อนโดยรอบ ๆ พบว่ามี 3 แหล่งที่ส่งผลต่อ กทม. และประเมินความรุนแรงไว้ ได้แก่ 1.รอยเลื่อนสกายความรุนแรงระดับ 8 2.รอยเลื่อนที่กาญจนบุรี ด่านเจดีย์สามองค์และศรีสวัสดิ์ คาดการณ์แผ่นดินไหวไว้ที่ 7-7.5 และ 3.แนวมุดตัวของเปลือกโลก ที่ทะเลอันดามัน 8.5-9

ในจังหวัดอื่นมีการประเมินเช่นเดียวกับ กทม. โดยเฉพาะจังหวัดที่รอยเลื่อนอยู่ ประเมินว่าจะส่งผลต่อจังหวัดนั้นเท่าไร แล้วนำมากำหนดว่าในจังหวัดจะต้องออกแบบอัตราการเร่งที่กระทำต่ออาคารนี้อย่างไร จะเห็นว่ากฎหมายค่อนข้างครอบคลุมและละเอียดมาก อย่างไรก็ตามต้องมาทบทวนว่าแต่ละจังหวัดอาจจะต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในการคำนวณควรต้องเพิ่มน้ำหนักไปอีกหรือไม่

สำหรับประเภทอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 ทวิ และกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 กำหนดให้เจ้าของอาคาร 9 ประเภทต้องตรวจสอบความปลอดภัยทุกปี ได้แก่ 1) อาคารสูง 2) อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3) อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตร 4) โรงมหรสพ 5) โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป

6) สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป 7) อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป 8) โรงงานที่มีความสูงมากกว่าหนึ่งชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และ 9) ป้ายหรือสิ่งก่อสร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นที่ตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป

“อาคารทั้ง 9 ประเภทนนี้ตามกฎหมายต้องตรวจสอบทุกปีอยู่แล้ว เมื่อตรวจสอบเสร็จต้องรายงานกลับไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาคารนั้นตั้ง หากเจ้าของอาคารที่ฝ่าฝืน ไม่ยื่นตรวจสอบอาคารทุกปี มีโทษจำคุก 3 เดือน และปรับขั้นแรก 60,000 บาท จากนั้นมีปรับรายวันอีก 10,000 บาท

การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ต้องเพิ่มประเภทอาคารที่จะต้องตรวจสอบทุกปีเข้าไปอีกหรือไม่ ซึ่งในทางวิชาการผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องมาพูดคุยกันว่าจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารอย่างไรบ้าง

ซึ่งในกฎหมายมีการระบุวิธีการคำนวณ และประเภทอาคาร ไว้รองรับแผ่นดินไหว และกำหนดแล้วว่าพื้นที่ใดบ้างที่ต้องออกแบบอาคารที่รองรับแผ่นดินไหว โดยมีการกำหนดไว้ครอบคลุมแล้ว อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้อาจจะมีการพิจารณาจังหวัดที่มีความเสี่ยงเพิ่มตามรอยเลื่อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการประชุมพิจารณากัน

นายพงษ์นรากล่าวต่อไปว่า ส่วนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการการก่อสร้าง เป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางรับผิดชอบ ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนกันหลายสาขา ทั้งงานทาง งานเขื่อน งานชลประทาน งานโครงการก่อสร้างในทะเล และมีการประเมินผู้รับเหมาด้วย รวมถึงการพิจารณาเรื่อง “การจ้างผู้รับเหมาช่วง” คือ การยกทั้งก้อนไปไม่สามารถดำเนินการได้ สัญญาก่อสร้างอาคารภาครัฐมีการห้ามไว้อยู่แล้ว จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้างก่อน

“สาเหตุการพังถล่ม ต้องดูว่าเกิดจากอะไร การรับเหมาช่วงเป็นสาเหตุหรือไม่ การควบคุมกำกับดูแลโดยวิศวกร การควบคุมงานของคณะกรรมการควบคุมงานและการตรวจการจัดจ้าง ที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ และต้องมีความเข้มข้นที่จะตรวจสอบ แต่ที่ทราบข้อมูลกรรมการตรวจจัดจ้าง-คนคุมงาน ต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ เพราะกฎหมายถ้ามีเรื่องร้องเรียน หรืออาคารพังเสียหายขึ้นมา คนที่ต้องถูกตรวจสอบก่อนคือผู้คุมงาน และกรรมการตรวจจัดจ้าง

ส่วนกรณีอาคาร สตง.ที่ถล่ม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน สั่งการให้กรมโยธาฯ เป็นหน่วยดำเนินการตรวจสอบสาเหตุการพังถล่ม โดยกรมโยธาฯตั้งคณะกรรมการ โดยนายอนุทินได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ประชุมพิจารณาปัจจัยที่ทำให้อาคารพังถล่มมีหลายปัจจัยและจะมีการตรวจสอบทุกปัจจัย


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.